ประวัติ สวท.ร้อยเอ็ด
 
 
 
 

 สวท.ร้อยเอ็ด

           สวท.ร้อยเอ็ด ในฐานะเป็นสื่อของรัฐ ในการกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐไปสู่ประชาชน และจากประชาชนไปสู่ภาครัฐ เพื่อสร้างและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ นโยบาย โครงการต่างๆ ของรัฐบาล และกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งยุทธศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด
          สวท.ร้อยเอ็ด ทดลองออกอากาศเมื่อ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 ในระบบเอฟ.เอ็ม.ความถี่ 94 MHz. กำลังส่ง 500 วัตต์ ปัจจุบันกำลังส่ง 1,000 วัตต์ ครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด เสาอากาศสูง 100 เมตร ส่งกระจายเสียงวันละ 19 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. โดยมีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตรายการ
           สวท.ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่เลขที่ 109 ถนนรณชัยชาญยุทธ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด 45000  โทรศัพท์ 043 – 511769

                                                                 กรมประชาสัมพันธ์

      เป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยวิธีการให้ข่าวสาร ความรู้ข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่โน้มน้าว ชักจูงประชาชน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแก่รัฐบาลและหน่วยราชการต่าง ๆ ตามแนวทางที่ถูกที่ควรในระบอบประชาธิปไตย โดยมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ ยังมีสำนักประชาสัมพันธ์เขต อีก 8 สำนัก ได้แก่ 1. สปข.1 ขอนแก่น , 2. สปข.2 อุบลราชธานี , 3. สปข.3เชียงใหม่ , 4. สปข.4 พิษณุโลก , 5. สปข.5 สุราษฎร์ธานี , 6. สปข.6 สงขลา , 7. สปข.7จันทบุรี และ , 8. สปข.8 กาญจนบุรี เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้เข้าถึงประชาชนในส่วนภูมิภาค ขณะเดียวกันกรมประชาสัมพันธ์ ยังมีสำนักงานประชาสัมพันธ์ครบทุกจังหวัด 

 

เริ่มก่อตั้งกรมประชาสัมพันธ์ 

      กรมประชาสัมพันธ์เริ่มก่อตั้งเมื่อ 3 พฤษภาคม 2476 ภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศโดยมีชื่อในระยะเริ่มแรกว่า "กองโฆษณาการ” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 และได้มีการพัฒนาผลงานมาเป็นลำดับโดยมีการปรับปรุงและขยายความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นทุก ๆ ระยะตามความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการสภาพของสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัย และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "กรมโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2483 หลังจากนั้น 12 ปี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประชาสัมพันธ์” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495

  • 3 พฤษภาคม 2476 ตั้งเป็น "กองการโฆษณา” โดยพระราชบัญญัติ จัดตั้งกระทรวงและกรมมีฐานะเป็น กรมอิสระ ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี
  • 9 ธันวาคม 2476 เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานโฆษณาการ” มีฐานะเป็นกรมหัวหน้าสำนักงาน เทียบเท่าอธิบดี แบ่งส่วนราชการเป็น 3 กอง คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองเผยแพร่ความรู้ และกองหนังสือพิมพ์ โดยทำหน้าที่หลัก 3 ประการ คือให้ข่าว และความรู้แก่ประชาชน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรัฐบาล และประเทศโดยส่วนรวม
  • 31 มีนาคม 2481 โอนกิจการด้านช่าง และทะเบียนวิทยุ จากกรมไปรษณีย์ โทรเลขมาขึ้นกับสำนักงานโฆษณาการ และมีการตั้งโฆษณาการเขตขึ้นเป็นเขตแรกที่จังหวัดหนองคาย และที่จังหวัดพระตะบอง เป็นเขตที่สอง
  • 5 กรกฎาคม 2483 เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมโฆษณาการ” และมีการตั้งกองการต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อติดต่อ และโฆษณาการเผยแพร่ข่าวสารต่อชาวต่างประเทศ
  • 4 สิงหาคม 2490 โอนสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจากกระทรวงคมนาคมมาขึ้นกับกรมโฆษณาการ
  • 8 มีนาคม 2495 เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประชาสัมพันธ์” เพื่อให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ในฐานะ แหล่งการเผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสาร การเมือง ศีลธรรม วัฒนธรรม ความรู้และความบันเทิง ตลอดจน เป็นสื่อกลาง สร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่าง รัฐบาลกับประชาชนด้วย
  • พ.ศ. 2497 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยในต่างประเทศ” ขึ้นที่ลอนดอนและวอชิงตัน และได้จัดตั้ง กองประชาสัมพันธ์ภาคพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรก ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงาน สาขาของกรมประชาสัมพันธ์ในภาคใต้โดยเฉพาะ
  • 1 มกราคม 2503 โอนสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวไปรวมกับ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และเพิ่มหน่วยงานระดับกอง คือ กองสำรวจประชามติ เพื่อสำรวจ และรับฟัง ความคิดเห็น ของประชาชน
  • พ.ศ.2503 ได้มีการติดตั้ง "กองประชาสัมพันธ์เขต" ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ลำปาง และสงขลา เพื่อเป็นหน่วยงานสาขาของกรมประชาสัมพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง
  • 20 ตุลาคม 2504 ตั้ง "โรงเรียนการประชาสัมพันธ์" ขึ้นในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่วิชาความรู้และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาการประชาสัมพันธ์ และการติดต่อสื่อสาร
  • พ.ศ.2513 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยขึ้นที่พนมเปญประเทศเขมร" ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว
  • 21 สิงหาคม 2518 มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการบริหารส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค ของกรมประชาสัมพันธ์ใหม่ โดยมีหน่วย ระดับกอง 15 หน่วยงาน
  • มิถุนายน 2521 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย"
  • 1 มกราคม 2522 ตั้ง "สำนักงานแถลงข่าวไทยที่เจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
  • 17 กันยายน 2526 ตั้ง "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 4 สุราษฎร์ธานี" เพิ่มขึ้น 1 แห่ง
  • 7 สิงหาคม 2529 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ ออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง (20หน่วยงาน) และราชการบริหารส่วนภูมิภาค (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่คือ กองงานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ, ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต 5-8, และวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
  • 26 มีนาคม 2540 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลาง 22 หน่วยงานและราชการบริหารส่วนภูมิภาค (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด 75 จังหวัด)

 

 ตรากรมประชาสัมพันธ์

      ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 7 เล่มที่ 64 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2490 กำหนดเครื่องหมายราชการ "กรมโฆษณาการ” ให้เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์เหาะลอยอยู่เหนือเมฆ มีวงกลมล้อมรอบตามวรรณคดีกล่าวไว้ว่า พระอินทร์เป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ให้ตื่นจากบรรทมสินธุ์ในสะดือทะเล เพื่อขึ้นมาปราบเหตุร้ายต่าง ๆ ในโลก อย่างไรก็ดี โดยที่สังข์ ตามลัทธิพราหมณ์ถือว่าเป็นมงคล 3 คือ สังข์ ถือกำเนิดจากพระพรหม ท้องสังข์เคยเป็นที่ซ่อนคัมภีร์พระเวทและตัวสังข์ มีรอยนิ้วพระหัตถ์ ของพระนารายณ์ ในพิธีทางศาสนา พราหมณ์ จึงมีการเป่าสังข์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย นอกจากนี้ พระในลัทธิชินโตก็ใช้สังข์เป่าในพิธีมงคลพวกชาวเกาะทะเลใต้ เป่าสังข์ บอกสัญญาณระหว่างกันปรากฏว่าได้ยินไปไกลไม่แพ้เป่าเขาควาย เนื่องจากงานประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณาเผยแพร่และอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างกว้างขวางเป็นการสร้างความเข้าใจอันดี โดยมีวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์เป็นเครื่องช่วย จึงเปรียบได้กับการเป่าสังข์ของเทวดาในสมัยโบราณเพื่อบอก สัญญาณ และเรียกประชุม นั่นเอง

 

 สีกรมประชาสัมพันธ์

ใช้สีม่วง ซึ่งถือกันว่าเป็นสีของงานสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์

 

Link banner

 

Copy code นี้ไปลงในเว็บไซต์ของท่าน

 <a href="http://www.prd.go.th" target="_blank"><img src="http://www.prd.go.th/images/prd_banner01.jpg" border="0" alt="กรมประชาสัมพันธ์"

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar